บริษัท นำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ 8 ทิศกู้ดเพาเวอร์ จำกัด

บริการจัดหาแรงงานต่างด้าว ถูกกฎหมาย ตามระเบียบ MOU

มท. เตรียมออกประกาศกระทรวง 2 ฉบับบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และ โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างเตรียมการออกประกาศกระทรวง 2 ฉบับ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 67 เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตามนโยบายรัฐบาล ดูแลสิทธิและโยชน์ของแรงงาน ลดปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติตลอดจนการตกเป็น เหยื่อการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และได้ดูแลครอบคลุมไปถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานให้ได้รับการคุ้มครองตามหลักมนุษยธรรม

"ประกาศกระทรวงมหาดไทยทั้ง 2 ฉบับ ยังจะมีส่วนช่วยตอบสนองความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการให้มีกำลังแรงงานที่เพียงพอ สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยคำนึงถึงถึงความสมดุลทั้งทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคม และความมั่นคงประเทศ" น.ส.ไตรศุลี กล่าว

โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขั้นตอนล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทยได้ลงนามในร่างประกาศกระทรวงทั้ง 2 ฉบับแล้ว อยู่ระหว่างการนำเสนอให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีลงนาม ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากเป็นประกาศกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ต้องลงนามโดยนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย

สำหรับฉบับแรก ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 มีสาระสำคัญให้แรงงานทั้ง 4 สัญชาติ ที่การอนุญาตให้อยู่หรือทำงานอยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย, ที่ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาต แต่ทำงานกับนายจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สามารถอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว ถึง 30 ธ.ค. 67 เพื่อดำเนินการขออนุญาตอยู่และทำงานตามที่ประกาศกระทรวงแรงงานกำหนด

เมื่อดำเนินการตามที่กำหนดและคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ทำงานแล้ว ให้สามารถอยู่ในประเทศไทยได้เป็นกรณีพิเศษเพื่อทำงานได้จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 69 และการอนุญาตนี้ให้ครอบคลุมถึงผู้ติดตามคนต่างด้าวซึ่งเป็นบุตรมีอายุไม่เกิน 18 ปี แต่หากผู้ติดตามมีอายุครบ 18 ปี ตั้งแต่วันประกาศมีผลบังคับและประสงค์จะอยู่ในประเทศไทยต่อไป จะต้องทำงานกับนายจ้างโดยต้องยื่นคำขออนุญาตทำงานตามที่กระทรวงแรงงานกำหนดต่อไป
ประกาศฯ ฉบับนี้ เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. 67 เป็นต้นไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ฉบับที่ 2 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 มีสาระสำคัญ กำหนดให้คนต่างด้าว 4 สัญชาติ ที่ได้รับอนุญาตตามมติ ครม. ให้อยู่ทำงานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้ามาตาม MOU ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลทั้ง 4 ประเทศ สามารถขออนุญาตอยู่ในประเทศไทยต่อได้อีก 2 ปี ถึง 13 ก.พ. 70 และสามารถต่ออายุได้อีก 1 ครั้งเป็นเวลา 2 ปี ถึง 13 ก.พ. 72 รวมแล้วเป็นการขยายระยะเวลาให้ขออยู่เพื่อทำงานในประเทศไทยได้อีก 4 ปี และการอนุญาตดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 18 ปีด้วย แต่หากผู้ติดตามอายุเกิน 18 ปีแล้ว และประสงค์จะอยู่ในประเทศไทยจะต้องทำงานกับนายจ้าง โดยต้องยื่นคำขออนุญาตทำงานต่อไป
สำหรับประกาศฯ ฉบับนี้ เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 67 เป็นต้นไป

ที่มา https://www.thaigov.go.th

“พิพัฒน์” พร้อมจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน เตรียมจดทะเบียนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย 2 ฉบับ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 67 เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตามนโยบายรัฐบาล ดูแลสิทธิและประโยชน์ของแรงงาน ลดปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติตลอดจนการตกเป็น เหยื่อการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และได้ดูแลครอบคลุมไปถึงผู้ติดตาม ซึ่งเป็นบุตรของแรงงานให้ได้รับการคุ้มครองตามหลักมนุษยธรรม ขั้นตอนล่าสุดอยู่ระหว่างการนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนาม ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป เนื่องจากเป็นประกาศกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ต้องลงนามโดยนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย

รมว. “พิพัฒน์” กล่าวต่อว่า ประกาศฉบับที่ 1 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (การจดทะเบียน คนใหม่) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ประกาศฯ ฉบับนี้ เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. 67 เป็นต้นไป ฉบับที่ 2 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 (กลุ่มต่ออายุใบอนุญาต) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 สำหรับประกาศฯ ฉบับนี้ เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 67 เป็นต้นไป

ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสาระสำคัญของประกาศ ดังกล่าว คือ ฉบับแรก ผ่อนผันให้แรงงานทั้ง 4 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม กลุ่มที่การอนุญาตให้อยู่หรือทำงานอยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย กลุ่มที่ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาต แต่ทำงานกับนายจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาต และกลุ่ม 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ถึง 30 ธ.ค. 67 เพื่อดำเนินการขออนุญาตทำงานตามที่ประกาศกระทรวงแรงงานกำหนด เมื่อดำเนินการตามที่กำหนดแล้วจะสามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้เป็นระยะเวลา 1 ปี ถึงวันที่ 31 มี.ค. 69 รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรคนต่างด้าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ให้มีสิทธิอยู่ตามสิทธิของคนต่างด้าวที่เป็นบิดา หรือ มารดา โดยให้ไปปรับปรุงทะเบียนประวัติตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร หากผู้ติดตามมีอายุ ครบ 18 ปี และประสงค์ทำงานกับนายจ้างให้คนต่างด้าวสามารถอยู่ในประเทศไทยอีก 60 วัน เพื่อยื่นขออนุญาตทำงาน ส่วนฉบับที่ 2 กำหนดให้คนต่างด้าว 4 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานในลักษณะ MOU เพื่อให้สามารถทำงานเป็นเวลา 2 ปี ถึง 13 ก.พ. 70

และต่ออายุได้อีกครั้งเป็นระยะเวลา 2 ปี ถึง 13 ก.พ. 72 ครอบคลุมถึงผู้ติดตามคนต่างด้าว (บุตรของแรงงานต่างด้าว) ซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี สามารถอยู่ในประเทศได้เท่ากับระยะเวลาที่บิดามารดาของผู้นั้นได้รับอนุญาต โดยจะต้องไปปรับปรุงทะเบียนประวัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หากผู้ติดตามมีอายุครบ 18 ปี และประสงค์จะทำงานให้ไปปรับปรุงทะเบียนประวัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรและดำเนินการตามกฎหมายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับกำหนดวันเริ่มดำเนินการจดทะเบียนแรงงาน 4 สัญชาติ กรมการจัดหางานจะประชาสัมพันธ์ให้นายจ้าง สถานประกอบการ และแรงงานต่างชาติทราบต่อไป ขอให้ติดตามข่าวสารจากกรมการจัดหางานอย่างใกล้ชิด ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน doe.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา https://www.doe.go.th/alien

เปิดขึ้นทะเบียนแรงงานสถานะไม่ถูกต้องตามกม. ผ่านระบบออนไลน์

กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน เปิดให้แรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถยื่นขึ้นทะเบียน ผ่านช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ workpermit2024.doe.go.th เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2567

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบและสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ทำให้เกิดการลักลอบเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยทางพรมแดนธรรมชาติ ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ ประกอบกับแรงงานข้ามชาติบางส่วนซึ่งเคยได้รับอนุญาตทำงานถูกต้อง กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เนื่องจากดำเนินการขออนุญาตทำงานไม่ครบขั้นตอน เปลี่ยนนายจ้างไม่ทันภายในเวลาที่กำหนด หรือทำงานครบวาระการจ้างงานตาม MOU แต่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ เพื่อมิให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน กระทบต่อการขับเคลื่อนกิจการของนายจ้าง สถานประกอบการ และเศรษฐกิจของประเทศไทย กระทรวงแรงงานจึงเสนอแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อบรรเทาผลกระทบ

“ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและสามารถทำงานกับนายจ้างเป็นการชั่วคราวได้เป็นระยะเวลา 1 ปี กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน จึงกำหนดเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติกลุ่มดังกล่าว ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2567 นี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานได้กำหนดแนวทางการดำเนินการ โดยระยะแรก ให้นายจ้างดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว พร้อมรูปถ่าย ต่อกรมการจัดหางาน ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ workpermit2024.doe.go.th หรือยื่นเอกสารด้วยตัวเองได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด/สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในท้องที่ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานที่ทำงานของนายจ้าง

ระยะที่ 2 ให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (แบบ บต. 50 อ.6) พร้อมเอกสารและหลักฐาน อาทิ ใบรับรองแพทย์ เอกสารประกันสุขภาพ/เอกสารประกันสังคม และเอกสารนายจ้าง เป็นต้น ภายในวันที่ 30 มีนาคม 2568 พร้อมชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานฉบับละ 900 บาท ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2569

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแล้ว จะต้องดำเนินการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล และจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ ต่อไป

สำหรับผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานข้ามชาติที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรตามสิทธิของบิดาหรือมารดา โดยให้บิดาหรือมารดาของผู้ติดตามแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด/สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในท้องที่ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานที่ทำงานของนายจ้าง จากนั้นให้ไปจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ ณ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริหารการทะเบียนภาค สาขาจังหวัด หรือสถานที่ที่กรมการปกครองกำหนด

“ขอให้นายจ้าง สถานประกอบการ และแรงงานข้ามชาติให้ความสำคัญศึกษาแนวทางการขอรับใบอนุญาตทำงาน และดำเนินการทุกขั้นตอนให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกกฎหมาย หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506" กด 2 นายสมชาย กล่าว

ที่มา
https://www.doe.go.th/alien

กรมการจัดหางาน แจงกระบวนการทำ CI สะดวก รวดเร็ว

อธิบดีกรมการจัดหางาน แจงขั้นตอนการทำเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ชำระค่าธรรมเนียมที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส นัดหมายวัน เวลาเข้าศูนย์ CI บริการรวดเร็ว สะดวก กำกับดูแล ตรวจสอบใกล้ชิด ย้ำมติ ครม. ล่าสุด ช่วยแรงงานข้ามชาติไม่หลุดจากระบบ

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณีตัวแทนกลุ่มนายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติ มีข้อกังกลเกี่ยวกับกระบวนการทำเอกสารรับรองสถานะบุคคล (CI) มีความซ้ำซ้อน ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนแรงงานได้ทันภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ทำให้แรงงานข้ามชาติหลายแสนคน ต้องหลุดออกจากระบบนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมการจัดหางาน ขอชี้แจงว่า การทำเอกสารรับรองบุคคล เป็นการดำเนินการของทางการเมียนมา ภายในศูนย์พิสูจน์สัญชาติ ซึ่งทางการเมียนมากำหนดให้แรงงานจะต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส พร้อมนัดหมายวัน เวลาเข้าศูนย์ฯ โดยขั้นตอนการดำเนินการเป็นไปตามวิธีการของทางการเมียนมา ไม่มีความยุ่งยาก ซับซ้อนแต่อย่างใด

ในส่วนของกรมการจัดหางาน ได้กำกับดูแลการดำเนินการของศูนย์อย่างใกล้ชิด ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้คำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ จัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ เพื่อให้บริการบันทึกข้อมูล CI และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรที่แรงงานได้รับ โดยแต่งตั้งจัดหางานจังหวัดเป็นหัวหน้าศูนย์ฯ มอบหมายผู้ตรวจราชการกรม ตรวจ ติดตาม กำกับดูแล ไม่พบการเรียกรับเงินภายในศูนย์ฯ นายจ้างที่มาดำเนินการด้วยตนเองจำนวนน้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากนายจ้าง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่นายจ้างจะต้องรับผิดชอบ

นายสมชาย กล่าวต่อว่า สำหรับศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานเมียนมาได้จัดตั้งขึ้นจำนวน 8 แห่งใน 8 จังหวัด ทั่วประเทศ ที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากและสะดวกในการเดินทาง แบ่งตามภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ภาคใต้ จังหวัดสงขลา และสุราษฎร์ธานี ปริมณฑล จังหวัดปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีแรงงานน้อยสามารถใช้บริการในภาคกลางหรือปริมณฑลได้ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่าแรงงานเมียนมาใช้บริการที่ศูนย์พิสูจน์สัญชาติไม่มากเท่าที่คาดไว้ จึงมีการปิดศูนย์ในจังหวัดสงขลาและนครสวรรค์ และปิดบริการต่อเนื่องในอีก 5 แห่ง เหลือเพียงศูนย์ที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งให้บริการจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 แต่ก็ยังคงมีผู้มาใช้บริการจำนวนไม่มาก

อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวในปี 2568 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 เห็นชอบให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกกฎหมาย แรงงานจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและได้รับอนุญาตทำงานเป็นเวลา 1 ปี และให้ต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งใบอนุญาตทำงานหมดอายุในวันที่

13 กุมภาพันธ์ 2568 ในลักษณะ MoU แรงงานจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและได้รับอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี ต่ออายุได้อีกหนึ่งครั้งเป็นเวลา 2 ปี ดังนั้น แรงงานที่หลุดออกจากระบบ นายจ้างก็สามารถมาดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ซึ่งกรมการจัดหางานได้เจรจากับทางการเมียนมา เพื่อร่วมกันกำหนดขั้นตอนใกล้เคียงกับการนำเข้าตาม MoU ปกติ ดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ง่าย สะดวก รวดเร็ว โดยแรงงานไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร แต่หากแรงงานต่างด้าวท่านใดประสงค์จะกลับออกไปนอกราชอาณาจักรก็สามารถทำได้ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 และเมื่อกลับออกไปแล้วหากประสงค์จะทำงานต้องกลับเข้ามาทำงานตาม MoU

ทั้งนี้ นายจ้าง สถานประกอบการ ขอให้ติดตามข่าวสารจากกรมการจัดหางานอย่างใกล้ชิด ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางานdoe.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ
ที่มา
https://www.doe.go.th/alien


บริษัท นำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ 8 ทิศกู้ดเพาเวอร์ จำกัด
  call now   chat line